ร้านค้าชุมชน

ร้านค้าชุมชนสร้างรายได้หมุนเวียนในหมู่บ้านได้จริงหรือ!

ร้านค้าชุมชน..คืออะไร

โดยปกติแล้วไม่ว่าจะหมู่บ้าน, ตำบล หรือแม้แต่ชุมชนไหนๆ ก็ต้องมีร้านค้าประจำท้องถิ่นนั้นๆ เป็นของคู่กันอยู่เสมอ แค่เข้าข่ายนี้ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นร้านค้าชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นในลักษณะของคนที่เห็นโอกาสเปิดร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคให้กับผู้คนในท้องถิ่น และละแวกใกล้เคียง โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ การเดินทางหรือการสัญจรไปกลับระหว่างตัวเมืองที่ใหญ่ขึ้นมา หรือตัวจังหวัดถูกจำกัดด้วยระยะทาง หรือความยากลำบากในการเดินทาง ร้านค้าเล็กๆ ในชุมชนนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าพื้นฐานได้เป็นอย่างดี

ร้านค้าชุมชนนั้นต้องเรียกได้ว่ามีมานานแล้ว แต่เป็นของที่คู่กับแทบทุกชุมชนเลยด้วยซ้ำ ดังที่กล่าวมามักจะเป็นร้านค้าที่เป็นธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ เสียมากกว่า ขายสินค้าสารพัดเท่าที่ความต้องการหลักๆ ของคนในท้องถิ่นจะถามหา สินค้าอะไรที่เป็นประเภทนานๆ ขายได้สักครั้ง หรือสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทที่ไม่ค่อยจำเป็น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยมักจะไม่มีปรากฎ เพราะฉะนั้นร้านค้าจะเล็ก, กลาง, ใหญ่ หรือแม้แต่ร้านโชห่วยถ้าตั้งและให้บริการภายในชุมชน จะหนีคำว่าร้านค้าชุมชนไปได้อย่างไร

ร้านค้าชุมชน

ร้านค้าประชารัฐ ยกสถานะจากร้านค้าชุมชน?

จากร้านค้าชุมชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบส่วนตัว หรือร่วมกันทำภายในชุมชน ก็ยังพอมีข้อจำกัดที่เห็นได้ชัดคือ ต้องใช้ทุนส่วนตัวเป็นหลัก หรือถ้าเกิดจากการรวมตัวกันภายในชุมชนโดยไม่มีภาครัฐมาให้การช่วยเหลือก็จำเป็นที่จะต้องสู้และฝ่าฟันด้วยกำลังเท่าที่มีเป็นหลัก ตลอดจนในเรื่องของระบบบริหารจัดการสินค้า ภาครัฐเห็นข้อดี และข้อจำกัดเหล่านี้ของร้านค้าชุมชน เลยมี “โครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าร้านค้าประชารัฐ เพื่อมุ่งหวังในการยกระดับเศษฐกิจในท้องถิ่นผ่านระบบการค้าปลีกในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก Local Economy ผ่านมาทางกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) พร้อมจัดอบรมโครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน รุ่นที่ 1 เป็นการนำร่อง โดยผู้แทนร้านค้า ประชารัฐกองทุนหมู่บ้านฯ จำนวน 200 แห่งในภาคกลาง

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมท ได้เกิดความท้าทาย ที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดการปรับตัวให้แก่ตลาด และร้านค้าชุมชนหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันที่มีมากขึ้น จากตลาด และร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ ที่มีทั้งอำนาจต่อรองต่อผู้ผลิตสินค้าต่างๆ และมีความได้เปรียบจากขนาดของธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคเลือกเข้าร้านค้าชุมชนน้อยลง แต่เรื่องนี้ร้านค้าในท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบโดยตรงน้อยมาก เพราะในเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุนของภาคธุรกิจใหญ่ ย่อมจะดูจากขนาด และกำลังซื้อของประชากรในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก

ปัญหา และอุปสรรคของร้านค้าชุมชน

การเปลี่ยนแปลงในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้ธุรกิจต่างๆ มีการแข่งขันโดยการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ที่บางทีตลาดและร้านค้าชุมชนยังไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่สามารถเข้าถึง และมีใช้ได้ ในเรื่องของตัวช่วยในการบริหารจัดการซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นซอฟแวร์ในการบริหารสินค้าคงคลัง ก็เป็นอะไรที่จะต้องศึกษา และเอามาใช้ให้เกิดการก้าวทันกัน เพราะจะทำให้คุ้นชินและเกิดความสะดวกในการจัดการสินค้าเข้า และออกได้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ได้ทราบว่าสินค้าอะไรเหลือน้อยที่จำเป็นจะต้องสั่งซื้อ หรือสินค้าอะไรที่ขายดีหรือไม่ดี การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเป็นลำดับแรกๆ ถึงแม้จะเป็นร้านค้าในชุมชที่ไม่มีร้านสะดวกซื้อเข้ามาตั้งที่จะเป็นคู่แข่งก็ตาม

ผู้ประกอบการตลาด และร้านค้าอาจจะยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถดำเนินกิจการให้อยู่รอด และเติบโต เพื่อเป็นทางเลือกแรกๆ ให้แก่คนในชุมชนที่จะเข้าถึงสินค้าในราคายุติธรรม ทำให้กลไกตลาดไม่ให้เกิดการผูกขาดของธุรกิจกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากนัก และสร้างกลไกในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

ร้านค้าชุมชน

เมื่อมีร้านค้าชุมชนเกิดขึ้น ใครได้-ใครเสีย

เมื่อมีความต้องการในสินค้าหลักที่จำเป็น ต่อการอุปโภค และบริโภค ย่อมมีร้านค้าหรือร้านขายของเดิมอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วบ้าง แน่นอนว่าการมีร้านค้าชุมชน หรือร้านค้าประชารัฐเกิดขึ้นมาอีกย่อมส่งผลกระทบบ้างต่อร้านค้าที่มีอยู่เดิม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร เพราะถ้าไม่มีร้านค้าชุมชนโดยการสนับสนุนจากภาครัฐเกิดขึ้นมาแล้ว อนาคตอาจจะมีร้านค้าที่เป็นธุรกิจส่ว่นตัวของคนในท้องถิ่นเกิดขึ้นมาก็ได้ ตามขนาดของประชากรในชุมชนที่มีมากขึ้นไปตามเวลา แต่การมีร้านค้าที่รวบรวมสินค้าในชุมชนเพื่อส่งเสริมอาชีพซึ่งกันและกันนั้น ย่อมจะมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าอยู่แล้ว

ระเบียบข้อบังคับร้านค้าชุมชน

การหาสินค้าเข้ามาจำหน่ายในร้านค้าชุมชน

นับว่าเป็นเรื่องหลักที่มีความสำคัญมากที่สุดเลยทีเดียว เพราะสินค้าที่มีมาขายนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนร้านค้าโดยตรง แล้วสินค้าอะไรล่ะที่จะต้องมี หรือควรมีในการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าแห่งนี้ ประเภทแรกที่ขาดไม่ได้เลยก็คือสินค้าประเภทโชห่วย หรือสินค้าที่คนทั่วไปจำเป็นต้องซื้อกินซื้อใช้กันอย่างเป็นประจำ ทั่วๆ ไป เช่น ข้าวสาร, อาหารแห้ง, สบู่, ยาสีฟัน หรือพูดง่ายๆ คือของที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างวันตั้งแต่ตื่นนอน ยันเข้านอน อันนี้ก็จะไล่ๆ แล้วนึกภาพออกมาได้อย่างชัดเจน

ถัดมาก็น่าจะเป็นของกิน โดยเฉพาะของแห้ง อาหารแปรรูป ที่สามารถเก็บไว้นานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องระยะเวลาในการเก็บมากนัก เช่นข้าวสาร, ปลากระป๋อง, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, โจ๊กซอง, ขนมขบเคี้ยวต่างๆ, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์, น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ กลุ่มนี้ก็จะเป็นการจัดซื้อจากร้านค้าส่งประจำจังหวัด หากทำไปเรื่อยๆ ก็อาจจะมีตัวแทนสินค้าต่างๆ เข้ามาติดต่อเพื่อลงสินค้าชนิดอื่นๆ เข้ามาอีก

สินค้าหรืออาหารที่ผลิต และขายกันเองภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาหาร หรือของใช้ ก็เป็นอีกอย่างที่ควรจะส่งเสริมโดยการนำมาขายในร้านค้าชุมที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพ และเป็นการกระจายรายได้กันภายในหมู่บ้าน ยกตัวอย่างหากมีการตั้งกลุ่มเพื่อผลิตอาหารประเภทขนมไทย สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่น น้ำยาล้างจาน, สบู่ ก็ควรส่งเสริม โดยเฉพาะการทำประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในการส่งเสริมการสร้างเศษฐกิจภายในท้องถิ่น กลุ่มลูกค้าในสินค้าประเภทเหล่านี้ก็ไม่พ้นสมาชิก หรือคนในชุมชนที่อาศัยอยู่นั่นเอง

ทีนี้หลายท้องถิ่นก็จะมีความถนัดในการผลิตสินค้าไม่เหมือนกัน ก็จะเป็นที่มาว่าร้านค้าชุมชนที่เกิดขึ้น ควรจะเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากระหว่างกันในอีกขั้นหนึ่ง

ถ้าท้องถิ่นที่ทำร้านค้าชุมชน หรือร้านค้าประชารัฐ และเป็นท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, ท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือแม้แต่การเยี่ยมเยือนในลักษณะการเข้ามาดูงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีการจัดขึ้น สินค้าประเภทของที่ระลึกกลุ่มนี้ต่อมาที่หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึง สินค้าของที่ระลึกนี้หากจะอยู่เป็นโซนอย่างชัดเจนก็สามารถจะดึงดูดกลุ่มผู้มาเยือนให้เกิดการซื้อติดไม้ติดมือกลับไปได้ กลุ่มลูกค้าในสินค้าประเภทนี้อาจจะไม่ใช่คนในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่จะเป็นนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มาเยี่ยมเยือน หรือดูงานจากต่างท้องถิ่นเสียมากกว่า

ร้านค้าในชุมชน

ร้านค้าชุมชน จัดว่าเป็นโครงการระดับหมู่บ้านที่มีความท้ายทายค่อนข้างมาก

เพราะจะมีเรื่องของการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง และต่อเนื่องในทุกๆ วัน สิ่งที่สำคัญคือ คนหลักๆ ที่จะเป็นแกนเข้ามาดำเนินการ ต้องมีความเป็นจิตอาสา ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการทำโครงการร้านค้าชุมชนอะไรๆ ในหลายมิติอย่างที่ได้กล่าวไปเข้ามาเกี่ยวข้อง ความหนักแน่นในเป้าหมายเพื่อยกระดับชุมชน และสร้างเสริมรายได้ ช่วยให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรไม่ละสายตาออกไป

ขอให้ทุกท่านที่สนใจจะดำเนินการในเรื่องของร้านค้าชุมชน และกลุ่มที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วนั้น มีความแน่วแน่ มุ่งมั่นในเป้าหมาย และขอให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ท้องถิ่นอื่นๆ ได้เอากลุ่มของพวกท่านไปเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ ในอนาคตหากท้องถิ่นของท่านมีสินค้าอะไรดี และเด่น เราขออาสาเอามาแชร์เพื่อแบ่งปันให้สังคมได้รับรู้บ้าง หวังว่าคงอนุญาตินะครับ เผื่อจะได้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในวงกว้างขึ้นไปอีก

สุดท้าย หากคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ก็อย่าลืมแบ่งปัน โดยการแชร์ผ่านปุ่ม หรือไอค่อน (เฟส, ไลน์, google+, twitter) ด้านล่างนี้เพื่อเก็บเอาไว้ หรือให้คนอื่นได้ทราบบ้างครับ